พระมหากรุณาธิคุณในการพระราชทานยุทธศาสตร์การพัฒนา
        สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ถึงปัจจัยการพัฒนาของภูเก็ต ดังเช่น การเสด็จประพาสครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ นั้น ได้เสด็จออกให้ประชาชนชาวภูเก็ต ได้เฝ้าชมพระบารมีและทูลละอองธุลีพระบาท ณ บัญชรหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ต แล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท แก่พสกนิกรของพระองค์ ทรงแนะให้พสกนิกรถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และประวัติศาสตร์ และคนที่เป็นกลไกในการพัฒนา ดังพระบรมราโชวาทที่ว่า

        “เราทั้งสองขอขอบใจพรที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้กล่าวในนามของชาวภูเก็ต ทั้งขอขอบใจ ที่ชาวภูเก็ตทั้งหลาย ได้ต้อนรับเราอย่างดี เมื่อวานนี้เมื่อเรามาถึง เราได้มีความพอใจมาก และดีใจมากที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมจังหวัดนี้ ซึ่งภูมิประเทศสวยงาม และเราก็รอคอยมานานเหมือนกัน การที่จังหวัดภูเก็ตนี้ มีประวัติศาสตร์อันน่าฟัง และน่ายินดี ก็เป็นสิ่งอีกอย่างหนึ่ง ที่จูงใจให้เราอยากได้มาเยี่ยมอีกที ชาวจังหวัดภูเก็ตนี้น่าภูมิใจ ที่ประวัติศาสตร์ในอดีต มีความรุ่งเรืองมาก และมีความกล้าหาญ ซึ่งพวกประชาชน ผู้เป็นลูกหลานของบรรพบุรุษ ที่ได้ทำวีรกรรมในสมัยโน้น”

        และในวโรกาสเดียวกันนี้ ทรงพระราชทาน พระบรมราโชวาท ที่เป็นแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนา แก่พสกนิกรที่เข้าเฝ้า ในวันนั้น ให้มีความขยันหมั่นเพียร และการเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่เพื่อการพัฒนา ดังพระบรมราโชวาท ที่ว่า

         “นอกจากนั้น จังหวัดนี้ก็มีทรัพยากรหลายอย่าง เช่น ดีบุก หรือ ยาง ทรัพยากรเช่นนั้น ก็นำความร่ำรวยแก่ประชาชน แต่เพื่อที่จะให้เพิ่มความร่ำรวย ก็ขอให้อาศัยความขยันหมั่นเพียร และพยายามค้นคว้าในทางวิทยาการ ต่อไป วิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้ผลของการที่ทำอาชีพนั้น ดีขึ้น ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ขอให้ประชาชนทุกคน ได้ประกอบอาชีพเช่นนี้ ด้วยความอุตสาหะพยายาม และขอให้มีกำลังใจ กำลังกาย ทำหน้าที่ทำงาน เพื่อความเจริญรุ่งเรืองของจังหวัดภูเก็ต ขอให้พรให้ทุกคนได้มีกำลังใจ กำลังกาย เช่นนั้น และขอให้มีความเจริญ”

         พระบรมราโชวาทดังกล่าว ได้เป็นวิสัยทัศน์ ต่อการพัฒนาจังหวัดภูเก็ต อย่างยิ่ง ได้สร้างความรู้ความ เข้าใจ และความตระหนัก ต่อประชาชนในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับใส่เกล้าไปปฏิบัติ ยังผลให้ประชาชนพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพยางพารา และแร่ดีบุก จนทำให้ จังหวัดภูเก็ต พัฒนาอย่างรวดเร็ว