วันนี้ (10 ส.ค. 65) ที่ห้องประชุมมุขหลังชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายประทีป คงสนิท ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ท.ภาค 8 นายสุขสันต์ ประสาระแอ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดภูเก็ต ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วม เพื่อหารือถึงแนวทางและข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหาระหว่างจังหวัดกับสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว หลังจากมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวน 3 จุดคือ พื้นที่ป่าชายเลน หมู่ที่ 6 ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต นอกจากมีปัญหาในเรื่องของพื้นที่ที่มีการยึดคืนจากผู้บุกรุกที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว ยังมีผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวและยังมีการนำขยะไปทิ้งในพื้นที่และจุดที่ 2 บริเวณพื้นที่ป่าชายเลนซอยกำไลทอง ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต ที่มีสภาพปัญหาคือมีการกันที่ดิน สร้างรั้วลวดหนาม รุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนและจุดที่ 3 คือพื้นที่ป่าชายเลนซอยโหนทรายทอง 1 ตำบลรัษฎา อำเภอเมืองภูเก็ตที่มีสภาพปัญหาคือการคืนที่ดิน สร้างสิ่งปลูกสร้างที่พักอาศัยรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลน
นายณรงค์ กล่าวว่า ขอให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีการลงไปหาข้อมูลและรับทราบปัญหา ได้มีการหาแนวทางร่วมกันในการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกันในทุก ๆ เรื่อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามกฏหมายที่กำหนด ทั้งนี้การจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนแนวทางต้านและลดการทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์ในพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตภายใต้โครงการต้านและลดทุจริตด้วยกลไกสหยุทธ์เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ไขการทุจริตในระดับพื้นที่และเพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุนริตมาจัดทำเป็นหลักสูตรองค์ความรู้หรือชุดข้อมูลที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนการป้องกันการทุจริต รวมถึงเพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตสู่การกำหนดมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันการทุจริต รวมทั้งแนวทางการติดตามการผลักดันมาตรการสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพื่อนำปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตมาต่อยอดพัฒนาเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐในระดับพื้นที่ เพื่อนำแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตหรือประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตในระดับพื้นที่มาขยายผลกลุ่มผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนากระบวนการต้านและลดการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมตลอดจนเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของการทุจริตและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริต |