พระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จเยี่ยมราษฏรโดยเสด็จส่วนพระองค์ และในท้องถิ่นกันดาร
        ในการเสด็จประพาส ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สร้างความตกตะลึง ให้กับราษฏร ที่อยู่ในถิ่นกันดาร ในจังหวัดภูเก็ตที่ พระมหากษัตริย์ ทรงเสด็จไปโดยไม่มีเจ้าหน้าที่อารักขา ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลีกเวลาส่วนพระองค์ เสด็จโดยลำพังไปยังตำบลป่าตอง ซึ่งเวลานั้น ถนนข้ามภูเขานาคเกิด จากตำบลกะทู้ ไปยังตำบลป่าตอง ยังสร้างไม่เรียบร้อย มีเพียงการตัดกรุยทาง และถมหินลูกรัง พอให้รถยนต์โดยสาร บรรทุกสัมภาระผ่านไปมา ได้เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง โดยพระองค์เอง เสด็จลึกเข้าไปถึงบริเวณ ชุมชนบ้านมอญ นางละมูล ภิรมย์ฤทธิ์ นั่งกระโจมอกอยู่หน้าบ้าน มีชายผู้หนึ่งเดินมาถามว่า “ไม่ไปรับเสด็จฯหรือ” นางละมูล ภิรมย์ฤทธิ์ ยังไม่ทันได้ตอบคำถาม ชายผู้นั้นพูดต่อว่า “ไม่ต้องไปแล้ว เรามายืนอยู่ ที่นี่แล้ว” ชายผู้นั้น ที่มายืนต่อหน้าหญิงชาวบ้านมอญ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่ง เป็น “เจ้า” ของพสกนิกรชาวภูเก็ต ทรงมีพระราชดำรัสถามทุกข์สุข ด้วยความยิ้มแย้ม “ทำมาหากินอะไร”


        ต่อมา นายวิน สมบัติ ราษฏรได้นำทางเสด็จไปยังแอ่งน้ำ ที่เรียกกันว่า “วังขี้อ้อน” ซึ่งเป็นแอ่งน้ำตก จากเทือกเขานาคเกิด ไหลออกสู่ทะเลอ่าวป่าตอง เป็นแอ่งธรรมชาติที่สวยงาม ชาวบ้านละแวกนั้น มานั่งอาบน้ำอยู่ มีผู้หญิงชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อ นางข้อย จำนงรักษ์ จำได้ว่าทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่เสด็จไปประทับยืนทอดพระเนตรชาวบ้านซักผ้าอยู่ด้วยความสนพระทัย จึงได้นำน้ำหวาน ที่ผลิตจากโรงงานพื้นเมืองในจังหวัดภูเก็ต มาทูลเกล้าถวายหนึ่งแก้ว พระองค์ทรงรับ แล้วมีพระราชดำรัสถามว่า “น้ำอะไร” ชาวบ้านไม่สามารถกราบทูล เป็นคำราชาศัพท์ได้ จึงกราบทูลว่า “น้ำมินิด เจ้าค่ะ” ซึ่งเป็นศัพท์พื้นเมืองของภูเก็ต ที่ใช้เรียกน้ำอัดลม “เลม็อนเนด” ในขณะนั้น พระองค์ทรงรับมา และเสวยโดยไม่ได้ถือพระองค์แต่อย่างใด ยังความปลื้มปีติแก่บรรดาชาวบ้าน ที่มีโอกาสได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โดยใกล้ชิดในวันนั้น อย่างหาที่สุดมิได้ ทุกคนยังจดจำเรื่องราว และเล่าขานกันต่อมาไม่สุดสิ้น จนถึงทุกวันนี้ เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นในครั้งนั้น ชาวป่าตองโดยมีท่านพระครูพิสิฐกรณี เจ้าอาวาสวัดสุวรรณคีรีวงก์ ตำบลป่าตอง เป็นประธานจึงได้ร่วมใจกันจัดสร้างอนุสรณ์สถานขึ้น ณ จุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าเสด็จลงประทับยืน นั้นไว้ ชื่อว่า “ราชปาทานุสรณ์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงสลักพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” ไว้ ณ สถานที่นี้ เมื่อวันพุธวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๑ ในพระราชวโรกาส ที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสภูเก็ต ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๑๐ เหตุการณ์หนึ่ง ที่พสกนิกรชาวภูเก็ตซาบซึ้ง ในพระมหากรุณาธิคุณของกษัตริย์ ความเพียร ทรงสมาทานกุศลวัตร ด้วยการเอาพระราชหฤทัยใส่ ในการปกครองพระราชอาณาเขต และประชาชนให้มีความสุขปราศจากภยันตราย ตลอดถึงการที่ทรงมีพระอุตสาหะอันแรงกล้า


        ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๐๒ ตอนเย็น ราวสี่โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จไปบ้านป่าคลอก มีราษฏรมาตั้งแถวต้อนรับตรงปากทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนิน บนชายหาดท่าหลาทอดพระเนตรชายหาด และป่าชายเลน ระหว่างรอส่งเสด็จ ชาวบ้านคนหนึ่ง ชื่อ นายถวิล คลายทุกข์ อยู่หมู่ที่ 2 ตำบลป่าคลอก ซึ่งไปตั้งแถวรับเสด็จ ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงขับรถยนต์ โดยพระองค์เอง จะเลี้ยวไปทางขวามือที่จะไปสู่บ้านพารา เสด็จเข้าไปตามถนนขรุขระ อันเหมาะที่จะเรียกว่าทางเกวียน มากกว่าถนน และทราบว่าถนนขาดที่บ้านพารา ได้ออกมาขวางทางรถพระที่นั่ง กราบทูลว่า “จะเสด็จเข้าไปไม่ได้ ไม่มีทางให้รถยนตร์เข้าไปได้อีกแล้ว“ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “เห็นมีถนนอยู่ในแผนที่“ นายถวิล คลายทุกข์ ชาวบ้านเกรงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเข้าไปจนรถยนตร์พระที่นั่งติดหล่ม จะทรงได้รับความลำบาก จึงกราบทูลด้วยความตกใจ ตามประสาชาวบ้านว่า “ถ้าไม่เชื่อ และเสด็จเข้าไปให้ได้แล้ว ก็จะขอถวายศีรษะให้” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงกลับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จออกมา และเสด็จยังจวนผู้ว่าฯ ที่ประทับในเวลา ๑๘.๐๐ นาฬิกา ทั้งสองเหตุการณ์นี้ พสกนิกรชาวภูเก็ต ถ่ายทอดไปปากต่อปาก ถึงพระวิริยะ ทรงไม่เหน็ดเหนื่อย ในการจะสอดส่องความเป็นอยู่ในชนบท ทุกสถานที่ แม้จะกันดาร ด้วยพระเนตรของพระองค์เอง ได้สร้างขวัญกำลังใจ ในความรักห่วงใย ที่พระองค์ทรงไม่ทอดทิ้งประชาชน