นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน ให้แก่ 20 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

        จังหวัดภูเก็ต จัดพิธีมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน ให้แก่ 20 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาของคนทุกช่วงวัยในพื้นที่ วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ถนนเจ้าฟ้า ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีมอบหนังสือพระราชทานสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน โอกาสนี้นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ ถวายธูปเทียนแพ ถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วเชิญหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน วางบนพานเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนั้น ผู้อำนวยการและผู้เแทนจากโรงเรียน 20 โรงเรียนประกอบด้วย โรงเรียนภูเก็ตวิทยาลัย,โรงเรียนสตรีภูเก็ต, โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต, โรงเรียนเมืองถลาง,โรงเรียนกะทู้วิทยา, โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม "จุติ-ก้อง อนุสรณ์",โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 36 จังหวัดภูเก็ต, โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์,โรงเรียนเกาะสิเหร่, โรงเรียนถลางพระนางสร้าง, โรงเรียนบ้านทุ่งคา บุณยขจรประชาอาสา,โรงเรียนบ้านบางเทา,โรงเรียนบ้านสะปำ "มงคลวิทยา",โรงเรียนบ้านอ่าวน้ำบ่อ,โรงเรียนวัดเทพนิมิตร,โรงเรียนวัดศรีสุนทร,โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์โรงเรียนวัดสุวรรณคีรีวงก์,โรงเรียนหงส์หยกบำรุงและ โรงเรียนวิชิตสงคราม เข้ารับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาของคนทุกช่วงวัยในพื้นที่ เป็นอันเสร็จพิธี
         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการนำเอาองค์ความรู้ที่แตกต่างกันตามหมวดสาขาวิชาต่าง ๆ ให้นักวิชาการ ผู้รู้ ช่วยกันเรียบเรียงในภาษาที่ง่าย เผยแพร่ไปสู่เด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ในทุกจังหวัด ทำให้ทั้งผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ เด็ก และเยาวชน ได้มีโอกาสในการที่จะแสวงหาองค์ความรู้ที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการที่จะทำให้เด็กสามารถเติบใหญ่ และทำให้ผู้ใหญ่สามารถแนะนำลูกหลาน ให้มีความรู้และความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และที่สำคัญที่สุด ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำสารานุกรมในรูปแบบ E-Book ด้วย อันจะยิ่งทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ในสารานุกรมสามารถแพร่กระจายไปสู่ประชาชนทุกวัยได้โดยง่าย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานให้กับพวกเราชาวไทย สำหรับหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 43 ฉบับพระราชทาน เล่มนี้ มีสาระที่น่าสนใจรวม 8 เรื่อง ได้แก่ 1. ประเพณีสิบสองเดือน มีเนื้อหาว่าด้วยงานประเพณีต่าง ๆ ในวิถีไทยที่มีขึ้นประจำเดือนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต คติความเชื่อ และจิตใจอันดีงามของคนไทยที่มีมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เช่น เทศกาลสงกรานต์ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีตักบาตรเทโว ประเพณีทอดกฐินและผ้าป่า 2. ชาวมอญในประเทศไทย มีเนื้อหาว่าด้วยมอญ ซึ่งเป็นชนชาติเก่าแก่แต่โบราณ บางส่วนยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา และชาวไทยเชื้อสายมอญ ที่มีชุมชนมอญกระจายอยู่มากถึง 37 จังหวัด โดยชาวมอญสามารถอยู่ร่วมกับชาวไทยได้เป็นอย่างดี ขณะที่ชาวมอญเหล่านั้นยังคงรักษาธรรมเนียมประเพณีความเชื่อของชนชาติไว้ได้ ทำให้สามารถรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ให้ปรากฏแม้จนปัจจุบัน 3. การศึกษาแบบวิถีไทย มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องการศึกษาตามทัศนะและวิธีการของไทย ที่เน้นการเล่าเรียนซึ่งกลมกลืนไปกับวิถีชีวิต วิถีทางศาสนา และวิถีทางวัฒนธรรม การศึกษา มีทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และระบบโรงเรียนทำงานประสานสอดคล้องกัน การศึกษาแบบวิถีไทยจึงเป็นกระบวนการพัฒนาชีวิตที่เจริญและพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างสอดคล้องกับกาลเวลาและสิ่งแวดล้อม 4. กัญชงและกัญชา พืชทั้งสองอย่างเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว และอยู่คู่กับมนุษย์มานานหลายพันปีแล้ว ในปัจจุบันกัญชงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม กระดาษ อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอาง ขณะที่กัญชาซึ่งเป็นพืชตระกูลเดียวกัน นิยมปลูกเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคหรือใช้ในการป้องกันบำบัดโรคเบื้องต้น แต่ต้องอยู่ในความควบคุมของรัฐ 5. การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน ซึ่งเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่มีขา ลำตัวยาวเป็นปล้อง มีทั้งชนิดที่อยู่ผิวหน้าดินและชนิดที่ขุดรูอยู่ใต้ดิน เมื่อไส้เดือนดินกินเศษผักผลไม้จะถ่ายมูลออกมาผสมลงไปในดินทำให้ได้ปุ๋ยหมักที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินจึงมีประโยชน์ทั้งในด้านการกำจัดเศษวัสดุอินทรีย์ ช่วยลดปริมาณขยะ และทำให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพดีเพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีราคาแพงด้วย 6. การบริหารจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชน เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทางหนึ่งที่ทุกคนจะสามารถช่วยเหลือชุมชนของตนเองให้มีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี คือ การช่วยกันดูแลรักษา หาแนวทางในการจัดการ และพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน และน้อมนำแนวพระราชดำริเรื่อง "เกษตรทฤษฎีใหม่" “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" รวมทั้งแนวทาง "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาใช้ประโยชน์ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน 7. ดาราจักร ศัพท์ภาษาไทยของคำว่า Galaxy หมายถึง ระบบขนาดใหญ่ของดาวฤกษ์จำนวนหลายพันล้านถึงหลายแสนล้านดวงที่รวมกันอยู่ จนเกิดเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น ดาราจักรของเรามีชื่อว่าดาราจักรทางช้างเผือก เพราะดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ที่เป็นองค์ประกอบของดาราจักรนี้ปรากฏอยู่ในบริเวณท้องฟ้าที่เรียกว่า ทางช้างเผือก ดาราจักรประกอบด้วยดาวฤกษ์ เทหวัตถุ ที่อยู่ระหว่างดาวฤกษ์ หลุมดำมวลยวดยิ่งซึ่งอยู่ที่ศูนย์กลางของดาราจักร และสสารมืดที่อยู่รอบนอกของดาราจักร และ 8. โรคหลอดเลือดสมอง สมองซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดของร่างกายต้องการเลือดมาหล่อเลี้ยงการทำงานอยู่เสมอ โรคหลอดเลือดสมองไม่ว่าจะเป็นอาการตีบ ตัน หรือแตก ล้วนทำให้สมองทำงานผิดไปจากปกติ และถ้ามีความรุนแรงมากก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ การรู้จักวิธีสังเกตอาการ และการป้องกันสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง เช่น การเลิกสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม จึงช่วยลดความเสี่ยงและอันตรายของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้"
ข้อมูลจาก :: สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต [2567-02-13]
ข่าวอื่นๆ
- นายนรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนผ้าไทยและผ้าลายอัตลักษณ์จังหวัดภูเก็ตประจำปี 2567  [2567-04-11]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาสักการะอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)   [2567-04-10]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ประชุมชี้แจงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567   [2567-04-10]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีสรงน้ำพระและรดน้ำขอพรในประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2567 ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต  [2567-04-10]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนและทางทะเล ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 จังหวัดภูเก็ต  [2567-04-10]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานจัดพิธีวันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประจำปี 2567   [2567-04-10]
- นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาศาสนสถาน วัดสะปำธรรมาราม ตำบลเกาะแก้ว อำเภอเมืองภูเก็ต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ   [2567-04-10]
- นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมแถลงข่าวผลการสนธิกำลังเข้าตรวจค้น จำนวน 5 เป้าหมายในพื้นที่ภูเก็ต บุกจับบริษัทนอมินีต่างชาติ เปิดร้านอาหารให้หนุ่มรัสเซีย   [2567-04-10]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าวจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ประจำปี 2567   [2567-04-05]
- นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการแถลงข่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดพบสื่อมวลชน  [2567-04-05]
>> ข่าวทั้งหมด